สวัสดีครับเพื่อน ๆ ในเวลาที่เพื่อน ๆ ทำการตั้งค่าอุปกรณ์ Cisco นั้น เคยได้ทำการ backup ค่า configuration ที่ได้ทำการตั้งค่าเอาไว้กันบ้างมั้ยครับ ถ้ายังไม่เคยได้ทำ ผมก็ขออนุญาตแนะนำให้ทำการ backup ค่า configuration เก็บเอาไว้กันบ้างนะครับ เพราะว่าเราก็ไม่ทราบใช่มั้ยครับ ว่าอุปกรณ์ของเราที่ใช้งานกันอยู่ทุกวันเนี่ย วันไหนมันจะเดี้ยงขึ้นมา ถ้าเกิดใช้งานไปแล้วอยู่ดี ๆ วันนึงมันเกิดใช้งานไม่ได้ขึ้นมาซะงั้น อย่างน้อยเราก็ยังมีค่า configuration ล่าสุด เก็บเอาไว้เพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์สำรองของเราได้ใช่มั้ยครับ ซึ่งการ backup ค่า configuration ก็สามารถทำได้โดยการ show startup-config และทำการ copy มาเก็บเอาไว้ แต่วันนี้ผมจะมาแนะนำวิธีการที่ดีกว่านั้นครับ นั่นก็คือให้อุปกรณ์ทำการส่งค่า configuration มาให้โดยอัตโนมัติในทุกครั้งที่มีการใช้คำสั่ง "write memory" หรือ "copy running-config startup-config" ครับ
การตั้งค่าให้อุปกรณ์ทำการ backup ค่า configuration ไปยัง Server ในทุก ๆ ครั้งที่มีการบันทึกค่า running-config ไปยัง startup-config ด้วยการใช้คำสั่ง “write memory” หรือ “copy running-config startup-config” นั้น สามารถที่จะทำได้โดยการใช้คำสั่ง “archive” ซึ่งคำสั่งนี้สามารถใช้งานได้ ตั้งแต่ Cisco IOS Release 12.3(4)T ครับ โดยการใช้คำสั่ง archive นี้ ยังสามารถนำไปใช้ในการตั้งค่าให้อุปกรณ์ทำการเก็บ log การตั้งค่าต่าง ๆ บนตัวมันเก็บเอาไว้ด้วยอีกนะครับ(บทความ:การเก็บ log การตั้งค่าต่าง ๆ บนอุปกรณ์ด้วยการใช้คำสั่ง archive)
เรามาเริ่มดูตัวอย่างการตั้งค่ากันเลยดีกว่าครับ สำหรับขั้นตอนการตั้งค่าที่ใช้งานในบทความนี้ก็มีดังนี้ครับ
- เข้าสู่ global configuration mode
- ใช้คำสั่ง archive เพื่อเข้าสู่โหมด archive configuration mode
- ใช้คำสั่ง path เพื่อเลือก รูปแบบและที่เก็บค่า configuration file
- ใช้คำสั่ง write-memory เพื่อให้ทำการ backup ค่า configuration ทุกครั้งที่มีการใช้คำสั่ง write memory หรือ copy running-config startup-config
- (ทางเลือก)ใช้คำสั่ง time-period เพื่อตั้งเวลาให้อุปกรณ์ทำการ backup ค่า configuration ตามเวลาที่กำหนด
ตัวอย่าง
Router(config)#archive
Router(config-archive)#path tftp://192.168.1.3/Router-config
Router(config-archive)#write-memory
Router(config-archive)#time-period 1440
ในตัวอย่างนี้ เป็นการตั้งค่าให้อุปกรณ์ทำการส่งค่า configuration มาเก็บไว้ โดยใช้โปรโตคอล tftp ซึ่งในส่วนนี้สามารถที่จะเลือกใช้โปรโตคอลในรูปแบบอื่น ๆ ได้หลากหลาย เช่น ftp, http, https เป็นต้น จากนั้นก็ทำการตั้งค่าให้ทำการ backup ค่า configuration ในทุกครั้งที่มีการ save ค่า configuration ไปยัง startup-config โดยการใช้คำสั่ง write-memory เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรามีค่า configuration ที่ใหม่ล่าสุดอยู่เสมอแล้ว แต่ในตัวอย่างนี้ยังจะมีการตั้งค่าให้ทำการ backup ค่า configuration ในทุก ๆ หนึ่งวัน (1440 นาที) อีกด้วย แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมจะใช้แค่เพียงคำสั่ง write-memory เท่านั้น จะไม่ใช้งานคำสั่ง time-period เนื่องจากจะทำให้มีค่า configuration ที่เก็บไว้เยอะจนเกินไปครับ
จากนั้นเราก็มาทำการตั้งค่าใน tfpt ของเรากันนะครับ ซึ่งในวันนี้ผมจะใช้โปรแกรม Tftpd32 มาใช้งานกันครับ ซึ่งเพื่อน ๆ ก็น่าจะเคยใช้งานกันมาบ้างแล้วใช่มั้ยครับ สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังไม่มีโปรแกรมนี้สามารถดาวน์โหลดได้ที่หน้าดาวน์โหลด หรือคลิ้กที่นี่เลยครับ:Tftpd32 standard edition v.3.51
เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถเก็บ backup ค่า configuration อันล่าสุดของอุปกรณ์เก็บไว้ได้แล้วครับ ซึ่งในเวลาปกติเพื่อน ๆ อาจจะไม่เห็นค่า แต่ถ้าเกิดอุปกรณ์ของเพื่อน ๆ เกิดมีปัญหาใด ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวอุปกรณ์หรือเป็นที่ค่า configuration การที่เราทำการเก็บค่า backup configuration เอาไว้ก็จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อน ๆ เองนะครับ
No comments:
Post a Comment