configure backup interface on cisco IOS router
สวัสดีครับ ในวันนี้ผมก็มีเทคนิคการตั้งค่าอุปกรณ์ Cisco IOS Router มาฝากเพื่อน ๆ กันอีกเช่นเคยครับ เพื่อน ๆ ทราบมั้ยครับว่าบนเราเตอร์ Cisco IOS นั้น เราสามารถที่จะเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือของระบบเครือข่ายให้มากขึ้นได้ ด้วยการตั้งค่า Backup Interface ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการสำรองเส้นทางได้ครับ
บน Cisco IOS Router ตั้งแต่ Version 11.0 เป็นต้นมา สามารถที่จะใช้คุณสมบัติ Backup Interface ได้ ซึ่งจะทำให้สามารถทำการสำรองเส้นทางข้อมูลในรูปแบบ physical คือ จะมีการเชื่อมต่อสู่เราเตอร์ 2 อินเทอร์เฟส โดยทั้ง 2 อินเทอร์เฟสนี้จะถูกทำการตั้งค่าไว้เหมือนกัน มีหมายเลข ip address ชุดเดียวกัน แต่ในการทำงานจะมีเพียงอินเทอร์เฟสเดียวเท่านั้นที่ทำงานอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ โดยอินเทอร์เฟสหลักจะอยู่ในสถานะ up และอินเทอร์เฟสสำรองจะอยู่ในสถานะ standby และเมื่ออินเทอร์เฟสหลักไม่สามารถใช้งานได้หรืออยู่ในสถานะ Down ก็จะทำให้อินเทอร์เฟสที่อยู่ในสถานะ standby นั้น เปลี่ยนสถานะเป็น up และจะถูกใช้งานแทนอินเทอร์เฟสหลักโดยอัตโนมัติ
ในการนำคุณสมบัติ Backup Interface ไปใช้งานจริง ๆ นั้น ก็ควรที่จะทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เฟสหลักไปยังสวิตซ์ตัวหนึ่งส่วนอินเทอร์เฟสสำรองก็เชื่อมต่อไปยังสวิตซ์อีกตัวหนึ่ง ซึ่งถ้าสวิตซ์ตัวใดตัวหนึ่งไม่สามารถทำงานได้หรือสายสัญญาณเส้นหลักเกิดใช้งานไม่ได้ขึ้นมา ทราฟิกก็จะถูกส่งไปใช้งานยัง อินเทอร์เฟสสำรองได้โดยอัตโนมัติ จึงเป็นอีกวิธีการนึงที่จะช่วยในการเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือของระบบเครือข่ายได้ครับ
ขั้นตอนการตั้งค่า Backup Interface บน Cisco IOS Router มีดังนี้ครับ
- ทำการตั้งค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ บนอินเทอร์เฟสหลัก เช่นการกำหนด ip address
- ทำการกำหนดอินเทอร์เฟสที่จะใช้งานเป็น backup interface
- ทำการตั้งค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ บนอินเทอร์เฟสสำรอง
เอาล่ะครับ เรามาดูตัวอย่างการตั้งค่ากันเลยดีกว่านะครับ ขั้นตอนแรกก็จะเป็นการกำหนดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ บนอินเทอร์เฟสที่จะใช้งานเป็นอินเทอร์เฟสหลัก กันก่อนครับ สำหรับค่าพารามิเตอร์ที่จะตั้งค่าให้ดูเป็นตัวอย่างนี้ ก็เช่น การกำหนด ip address ให้กับอินเทอร์เฟส, การกำหนด description และการ enable อินเทอร์เฟส เป็นต้นครับ
ตัวอย่าง
Router(config)#interface FastEthernet 0/0
Router(config-if)#description # Main Link #
Router(config-if)#ip address 192.168.10.1 255.255.255.0
Router(config-if)#no shutdown
เมื่อทำการกำหนดค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะมาทำการกำหนดอินเทอร์เฟสที่จะใช้งานเป็น backup interface กันครับ ซึ่งจะทำการกำหนดใน interface configuration mode ในอินเทอร์เฟสหลักนะครับ
ตัวอย่าง
Router(config-if)#backup interface FastEthernet 0/1
Router(config-if)#exit
จากนั้นก็ให้ทำการตั้งค่าอินเทอร์เฟสที่จะใช้งานเป็นอินเทอร์เฟสสำรองครับ ซึ่งรายละเอียดการตั้งค่าก็จะเหมือนกับอินเทอร์เฟสหลัก แทบทุกอย่างครับ
ตัวอย่าง
Router(config)#interface FastEthernet 0/1
Router(config-if)#description # Backup Link #
Router(config-if)#ip address 192.168.10.1 255.255.255.0
Router(config-if)#no shutdown
Router(config-if)#exit
เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ แต่เพื่อน ๆ สังเกตุมั้ยครับว่าอินเทอร์เฟสหลัก และอินเทอร์เฟสสำรองตามตัวอย่างนี้ นั้นมีหมายเลข ip address เหมือนกัน ซึ่งปกติแล้วถ้าเราไม่ใช้งานคุณสมบัติ backup interface นั้น เราจะไม่สามารถที่จะทำการตั้งค่า ip address ที่เหมือนกันบนเราเตอร์ตัวเดียวกันได้ โดยจะมีคำเตือนขึ้นมา ดังตัวอย่างด้านล่างนี้ครับ
ตัวอย่าง
Router(config)#int fa0/1
Router(config-if)#ip address 192.168.10.1 255.255.255.0
% 192.168.10.0 overlaps with FastEthernet0/0
แต่ถ้าเราทำการตั้งค่า backup interface เราจะสามารถใช้งานหมายเลข ip address ที่เหมือนกันได้ เพียงแต่สถานะการทำงานของอินเทอร์เฟสนั้น จะมีเพียงอินเทอร์เฟสเดียวที่ทำงานอยู่ในขณะนั้นครับ ซึ่งในเวลาที่ระบบทำงานปกติ อินเทอร์เฟสหลักก็จะอยู่ในสถานะ up ส่วนอินเทอร์เฟสสำรองก็จะอยู่ในสถานะ standby นั่นเองครับ โดยสามารถตรวจสอบสถานะการทำงานได้ด้วยการใช้คำสั่ง “show backup” และ “show ip interface brief” ครับ
ตัวอย่าง
Router#show backup
Primary Interface Secondary Interface Status
----------------- ------------------- ------
FastEthernet0/0 FastEthernet0/1 normal operation
Router#show ip interface brief
Interface IP-Address OK? Method Status Protocol
FastEthernet0/0 192.168.10.1 YES manual up up
FastEthernet0/1 192.168.10.1 YES manual standby mode down
Serial0/0/0 192.168.1.2 YES manual up up
Serial0/0/1 unassigned YES NVRAM administratively down down
แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้อินเทอร์เฟสหลักนั้น down ลงไป เช่นสวิตซ์ตัวที่อินเทอร์เฟสหลักเชื่อมต่ออยู่ไม่สามารถทำงานได้ หรือสายสัญญาณของอินเทอร์เฟสหลักนั้นไม่ทำงาน เป็นต้น อินเทอร์เฟสสำรอง ก็จะเปลี่ยนสถานะมาเป็น up โดยอัตโนมัติครับ
ตัวอย่าง
Router#show backup
Primary Interface Secondary Interface Status
----------------- ------------------- ------
FastEthernet0/0 FastEthernet0/1 backup mode
Router#show ip interface brief
Interface IP-Address OK? Method Status Protocol
FastEthernet0/0 192.168.10.1 YES manual up down
FastEthernet0/1 192.168.10.1 YES manual up up
Serial0/0/0 192.168.1.2 YES manual up up
Serial0/0/1 unassigned YES NVRAM administratively down down
บน packet tracer 6.1.0 command backup interface ใช้ไม่ได้ใช่มั้ยครับ
ReplyDeleteไม่น่าจะได้นะครับ
ReplyDelete